Myanmar Saing Waing
ลักษณะเฉพาะทางดนตรีมีการจัดวง 2 ลักษณะคือ ซายวายแล และซายวายจี ระบบเสียงของเครื่องดนตรี
และบทเพลงที่เป็นของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการจัดวงดนตรีใช้สำหรับแห่อีก 3 ลักษณะเรียกว่า วงเปียว วงโดบะ และวงโอซี จากคำบอกเล่าของชาวบ้านแสดงให้เห็นว่า ซายวายเป็นวงดนตรีที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่ตาวอย่างแนบแน่น
ปรากฏการใช้และหน้าที่ของดนตรีที่เด่นชัดได้แก่ 1) การบรรเลงซายวายในงานประโคม 2) การบรรเลง ซายวายประกอบการแสดง และ 3)
การบรรเลงซายวายประกอบการบูชา วงซายวายมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คน
สะท้อนความเป็นสังคมวัฒนธรรมวิถีพุทธ สะท้อนการรวมกลุ่มทางชาติพันธุ์
มีวัฒนธรรมร่วมที่แสดงออกในการประกอบประเพณี พิธีกรรม
ซายวายในสังคมวัฒนธรรมบ้านแม่ตาว
SAIWAI IN
SOCIO-CULTURAL CONTEXTS OF MAE TAO VILLAGE
มงคล รอพันธ์
นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวัฒนธรรมและการพัฒนา
สาขาวิชามานุษยวิทยาการดนตรี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ที่ปรึกษา : ขนบพร
วงศ์กาฬสินธุ์, Ph.D.,
ชิตชยางค์ ยมาภัย, ค.ด., พชร สุวรรณภาชน์, ปร.ด.
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวผ่านประวัติศาสตร์ดนตรี
การใช้และหน้าที่ของ “วงซายวาย” โดยประยุกต์ใช้แนวคิด
ทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและมานุษยวิทยาการดนตรี วิจัยในพื้นที่บ้านแม่ตาว
ตำบลท่าสายลวด จังหวัดตาก
ผลการศึกษาพบว่า ซายวายบ้านแม่ตาวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2497 โดยพระอูเซียตงเอ่ง และครูเปโจเมเปครูใหญ่ซายวายประจำหมู่บ้านแม่ตาว ถวายเครื่องดนตรีวงซายวายให้กับพระอธิการบัณฑิตโตเจ้าอาวาสวัดไทยวัฒนารามขณะนั้น
เอกลักษณ์ของวงซายวายบ้านแม่ตาว พบว่า ลักษณะเฉพาะทางดนตรีมีการจัดวง 2 ลักษณะ คือ ซายวายแล และซายวายจี
ระบบเสียงของเครื่องดนตรีและบทเพลงที่เป็นของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการจัดวงดนตรีใช้สำหรับแห่อีก
3 ลักษณะเรียกว่า
วงเปียว วงโดบะ และวงโอซี จากคำบอกเล่าของชาวบ้านแสดงให้เห็นว่า ซายวายเป็นวงดนตรีที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่ตาวอย่างแนบแน่น
ปรากฏการใช้และหน้าที่ของดนตรีที่เด่นชัดได้แก่ 1) การบรรเลงซายวายในงานประโคม 2) การบรรเลง ซายวายประกอบการแสดง และ 3) การบรรเลงซายวายประกอบการบูชา วงซายวายมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คน
สะท้อนความเป็นสังคมวัฒนธรรมวิถีพุทธ สะท้อนการรวมกลุ่มทางชาติพันธุ์
มีวัฒนธรรมร่วมที่แสดงออกในการประกอบประเพณี พิธีกรรม
คำสำคัญ
ซายวาย,
มานุษยวิทยาการดนตรี, ดนตรีพื้นบ้าน,
วัฒนธรรมดนตรี
ABSTRACT
This research aims to describe the
social culture of Mae Tao village through musical history, the use and function
of "Saiwai" the local musical band through the concepts of local
history and ethnomusicology. The study area is Mae Tao village, Tambon Ta SaiLuad
in Tak province.
The researcher found that the band
Saiwai at Mae Tao village was originally conceived by Pra U-Sia-Tong-Eng in
1954. PejoMejo, who is the leader of Saiwai, offered musical instruments to
PraAtikanbunditto, the abbot of WatThaiwattanaram for setting up the musical
band. The music played by Saiwai consists of two forms: Saiwai-lae and
Saiwai-gee. The musical scale and lyrics are local. In addition, there are
three styles used for parades. They consist of Wong Piew, WondDobah, and Wong
O-see. The uses of Saiwai are 1) playing preludes for religious ceremonies, 2)
public performances, and 3) playing for worship. Saiwai is closely related to
Mae Tao villager culture. This indicates the Buddhist culture and the close
association of the ethnic groups in Mae Tao Village and shows that they share
culture by performing music together.
KEY
WORDS
SAI WAI, MUSICAL ANTHROPOLOGY, FOLK MUSIC, MUSICAL CULTURE
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
สังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์
มนุษย์เป็นผู้กำหนดระบบระเบียบวิถีแนวทางในการปฏิบัติจากกลุ่มเล็กสู่กลุ่มใหญ่ยึดถือปฏิบัติร่วมกันเป็นแนวทางเดียวกัน
มนุษย์สร้างสังคมและวัฒนธรรมของตนเองขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่แฝงไว้ทั้งเรื่องของความเชื่อเรื่องของจิตวิญญาณสิ่งที่เหนือธรรมชาติ
ความดีความชั่วและที่สำคัญมนุษย์พยายามสรรสร้างบางสิ่งเพื่อที่จะชดเชยบางสิ่งโดยสิ่งที่สรรสร้างนั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ
ด้วย (ยศ สันตสมบัติ, 2544, หน้า
11)
ดนตรีคือส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมทั้งดนตรีและวัฒนธรรมต่างมีผลต่อกัน
ดนตรีในสังคมวัฒนธรรมและวัฒนธรรมในดนตรี
ดนตรีเป็นวัฒนธรรมที่แทรกซึมฝังลึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม
ดนตรีมีการปรับตัววัฒนธรรมก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สิ่งสำคัญอยู่ที่สังคมนั้น นำดนตรีมาใช้อย่างไร
บางโอกาสดนตรีถูกกำหนดหน้าที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น
เพื่อความบันเทิงและผ่อนคลาย พิธีกรรม การติดต่อสื่อสาร ความรักและความสามัคคี
หรือบางครั้งดนตรีอาจทำหน้าที่แค่เครื่องบอกเวลาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามแนวทางการศึกษาดนตรีในสังคมวัฒนธรรมนั้นก็ไม่ได้มุ่งศึกษาแต่บทบาทหน้าที่ของดนตรีเพียงอย่างเดียวแต่ยังสนใจว่าดนตรีมีส่วนช่วยอธิบายความเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ
อย่างไร ดนตรีจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยสืบค้นและอธิบายบริบทต่างๆ
ของประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (บุษกร สำโรงทอง
และคณะ, 2551, หน้า 123)
สอดคล้องกับคำกล่าวของ Alan P.Merriam ในหนังสือ The
Anthropology of music (1964, p. 311)
ว่าสามารถใช้ดนตรีในการประมวลประวัติศาสตร์วัฒนธรรมได้สามประการคือ 1) การประมวลประวัติศาสตร์ดนตรีและเครื่องดนตรี
เพราะดนตรีสามารถเผยให้เห็นถึงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมโดยรวมได้ 2)การใช้เครื่องดนตรีเพื่อช่วยในการสืบค้นประวัติศาสตร์ 3) การใช้เครื่องดนตรีในการอธิบายบริบทต่างๆของสังคม
เช่นการอพยพของผู้คนหรือการย้ายถิ่นอาศัย
ชนวนเหตุของการอพยพย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่จะมีผลมาจากการทำสงคราม
ซึ่งจะทำให้ผู้คนต้องหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ดังเช่นกลุ่มคนเชื้อสายพม่าที่มีการทำสงครามมาอย่างยาวนานทั้งการขยายอาณาเขตไปยังประเทศเพื่อนและการทำสงครามจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจแถบตะวันตก
ชนชาวพม่า
จึงเกิดการอพยพหลายครั้ง
ชนชาวพม่ามีการอพยพไปอยู่ตามชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งประเทศไทยด้วย(ธิดา สาระยา, 2538, หน้า 23 - 25) การอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย
ตามชายแดน มีการอพยพ อยู่หลายครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มคนเชื้อสายพม่ามีการรวมกลุ่มกันและเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านขยายออกเป็นชุมชนขนาดใหญ่หลายชุมชนตามตะเข็บชายแดนของประเทศไทย
ดังที่มีปรากฏหมู่บ้าน แม่ตาวซึ่งเป็นชุมชนชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนของพม่าหรือเมียนม่าร์ในปัจจุบันซึ่งบ้านแม่ตาว
ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีชนชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันบ้านแม่ตาวมีผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติอันประกอบด้วย
ชาวไทย ชาวไทใหญ่ ชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยง ชาวปะโอ ชาวปะหล่อง ชาวมอญและชาวลาว ความหลากหลายเชื้อชาติทำให้ในบริเวณดังกล่าวมีความหลากหลายด้านประเพณีวัฒนธรรม
ภาษา ดนตรีและการแสดงด้วย ซึ่งในแต่ละเชื้อชาติจะมีพิธีกรรมต่างๆ
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน ในการอพยพของผู้คนทำให้เกิดการเคลื่อนที่ทางวัฒนธรรม
เนื่องจากวัฒนธรรมต่างๆนั้นติดมากับผู้คนทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และรวมถึงดนตรีและ
การแสดง
วัฒนธรรม
ภาษา ศาสนาและประวัติศาสตร์นับเป็นหัวใจสำคัญในการหล่อหลอมผู้คน (หอม คลายานนท์, 2546, หน้า 93 – 98, รัตนาบุญมัธยะ, สุภา วิตตาภรณ์และปริญญาภรณ์ พรมดวง, 2547) ชาวพม่าล้วนรักดนตรีการร่ายรำและละคร
สำหรับดนตรีนั้นเกิดขึ้นจากผู้คนเป็นผู้เลือกรับและปรับใช้ ดนตรีจึงไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
ดนตรีจะต้องมีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์ทางวัฒนธรรม
ดังนั้นดนตรีอาจจะเกี่ยวข้องกับประเพณีพิธีกรรม ศาสนาหรือความเชื่อของผู้คน ดนตรีพม่าใช้แสดงได้ทุกโอกาสงานทำบุญเลี้ยงพระพิธีบวชนาคและงานเลี้ยงฉลองต่างๆ
ของครอบครัว รวมถึงงานศพ Paul Edmonds เขียนหนังสือเรื่อง Peacocks and
Pagodas อ้างในสูจิบัตรการนำเสนอการแสดงดนตรีพม่าในประเทศไทย
ของภาควิชามานุษยดุริยางควิทยา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ ประสานมิตร โดยได้กล่าวถึงชาวพม่าไว้ว่า
“...พิธีศพของเขาไม่ใช่งานที่มีความเศร้าโศก
ดังที่เราคุ้นเคยกันในยุโรป เขาว่าจ้างดนตรีมาแสดง
ไม่ใช่เป็นการไปเพิ่มความเศร้าโศก แต่เพื่อขับไล่ความทุกข์ ชาวพม่ามีวงดนตรีประจำชาติเรียกว่า
เมียนม่าร์ซายวาย เพื่อเป็นวงดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคน
ซึ่งนิยมนำเอามาเล่นเป็นมหรสพในทุกโอกาสเช่น งานบวชงานแต่งงาน
งานทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา งานวันสงกรานต์
งานวันปีใหม่งานฉลองพระหรือแม้แต่ในงานศพ
วงซายวายนั้น เป็นวงดนตรีประจำชาติพม่าทั้งประวัติความเป็นมาของวงซายวาย
ลักษณะทางดนตรี
วัฒนธรรมทางดนตรีหรือแม้แต่การใช้วงซายวายในประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งวงซายวาย ได้ถูกนำมาใช้ในพื้นที่บ้านแม่ตาวเพื่อประกอบพิธีกรรมในงานประเพณีต่างๆทั้งประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านแม่ตาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนบ้านแม่ตาวให้การยอมรับและเลือกวงซายวายให้เป็นวงดนตรีประจำของหมู่บ้าน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า วงซายวายบ้านแม่ตาวมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
มีการนำไปใช้อย่างไร และเมื่อวงซายวายถูกเลือกให้เป็นวงดนตรีประจำหมู่บ้านวงซายวายสามารถสะท้อนลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวได้หรือไม่อย่างไร
ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้จะดำเนินการศึกษาเพื่อให้เกิดแหล่งข้อมูลค้นคว้าที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมดนตรีพม่าโดยที่พื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านปฏิบัติการเรียนการสอนการบรรเลงวงซายวายและด้านบุคลากรผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ
อีกทั้งยังมีการใช้วงซายวายบรรเลงประกอบประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จึงเป็นที่มาของการกำหนดหัวข้องานวิจัยว่าซายวายในสังคมวัฒนธรรมบ้านแม่ตาว
เพื่ออธิบายลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวผ่าน“วงซายวาย” โดยอาศัยวงซายวายเป็นสื่อ
ในการอธิบายความเป็นสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาว
งานวิจัยในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในเชิงของการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
ผู้วิจัยจึงหวังอย่างยิ่งว่าการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมดนตรีและเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่ออธิบายลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวผ่านประวัติศาสตร์ดนตรี
การใช้และบทบาทหน้าที่ของ “วงซายวาย”
ขอบเขตการวิจัย
1. ขอบเขตด้านเนื้อหา
เป็นการศึกษาบริบทต่างๆ
ทางประวัติสาสตร์ของวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างวงซายวายกับสังคมวัฒนธรรมของหมู่บ้านแม่ตาว
กระบวนการปรับเปลี่ยนจากอดีตจนถึงปัจจุบันและปัจจัยต่างๆ
ที่มีผลจากการปรับเปลี่ยนเหล่านั้นโดยเน้นเฉพาะประเพณีและพิธีกรรมที่วงซายวายเข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น
2. ขอบเขตผู้ให้ข้อมูล
ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากนักดนตรี
ผู้นำชุมชนและสมาชิกในหมู่บ้านแม่ตาว หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
โดยสมาชิกในชุมชนจะแบ่งการศึกษาข้อมูลออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ ชาวไทย
ชาวพม่า ชาวไทใหญ่ ชาวปะโอ ชาวปะหล่อง ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ และชาวลาว
วิธีดำเนินการวิจัย
การศึกษาวิจัยเรื่องซายวายในสังคมวัฒนธรรมบ้านแม่ตาว ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาการดนตรี(Ethnomusicological Research) เพื่อทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมบ้านแม่ตาว
โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากภาคสนามเป็นหลัก
ใช้วิธีสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Research) และ การสัมภาษณ์ (In-depth interview) ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Documentary
Research)
การเตรียมตัวก่อนเข้าทำงานในพื้นที่
ผู้วิจัยทำการศึกษาทบทวนข้อมูลจากเอกสารงานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง
สำรวจข้อมูลพื้นที่ในเบื้องต้น ผู้วิจัยจึงเลือกบ้านแม่ตาวเป็นพื้นที่ศึกษาและกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ให้ข้อมูลหลักไว้
3 กลุ่มคือ
กลุ่มนักดนตรีและนักแสดงกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหมู่บ้านแม่ตาวและกลุ่มผู้เข้าร่วมประเพณีพิธีกรรมในหมู่บ้านแม่ตาว
(กลุ่มชาติพันธุ์) การบันทึกข้อมูลด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยในการเก็บข้อมูล
ประกอบด้วยแนวคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ สมุดบันทึก, เครื่องบันทึกเสียง,
กล้องบันทึกภาพนิ่ง, กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว,
คอมพิวเตอร์เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล
โดยในการทำวิจัยในครั้งนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการวิจัยในคนของมหาวิทยาลัยมหิดล
การวิเคราะห์ผู้วิจัยนำ กรอบแนวคิดทฤษฎีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาอธิบายบริบททางสังคมวัฒนธรรมและนำกรอบแนวคิดทางมานุษยวิทยาการดนตรีมาอธิบายดนตรีเพื่อให้เห็นความเป็นสังคมวัฒนธรรม
หลังการลงภาคสนามผู้วิจัยนำข้อมูลทั้งหมดมาตรวจสอบอีกครั้งโดยจากการเปรียบเทียบข้อมูลการสัมภาษณ์บุคคลและเปรียบเทียบข้อมูลจากเอกสารและนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ตามรูปแบบของวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยมหิดล
สรุปผลของการวิจัย
ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้เพื่ออธิบายลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวผ่านประวัติศาสตร์ดนตรี
การใช้และบทบาทหน้าที่ของ “วงซายวาย” ผลการวิจัยพบว่า
ซายวายบ้านแม่ตาวเป็นวงดนตรีพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมร่วมของคนเชื้อสายพม่า มีประวัติศาสตร์แบ่งเป็นช่วงของการก่อตั้งและช่วงของการสืบสานวงดนตรีราวปี พ.ศ.
2493-2556 โดยมีชื่อคณะว่า “เซียเมี๊ยโจว” พระอธิการบัณฑิตโตเป็นผู้อุปถัมภ์วงซายวายในยุคก่อตั้งราวปีพ.ศ. 2493-2551 ซึ่งมีครูเปโจ เป็นครูใหญ่ซายวายประจำหมู่บ้านแม่ตาว
วงซายวายบ้านแม่ตาวเกิดขึ้นจากพระอูเซียตงเอ่งและชาวบ้าน แม่ตาวมีความศรัทธาในพระอธิการบัณฑิตโตจึงให้ครูเปโจพาไปซื้อเครื่องดนตรีวงซายวายวงใหญ่
2 ชุด เพื่อถวายพระอธิการบัณฑิตโตนับจากนั้นมาจึงมีวงซายวายในหมู่บ้านแม่ตาว
วงซายวายบ้านแม่ตาวมีข้อปฏิบัติก่อนการแสดง คือทุกครั้งก่อนการแสดงจะมีการบูชาพระ
บูชานัตและบูชาครูดนตรีก่อน วงซายวายมีการจัดวง 2 ลักษณะคือ
ชเวซายด่อเป็นวงซายวายแกะสลักประดับสีทองใช้ประกอบการแสดงและพิธีกรรม อีกลักษณะหนึ่งคือหง่วยซายด่อเป็นวงซายวายแกะสลักประดับสีเงินใช้บรรเลงประกอบการแสดงมีเครื่องดนตรีทั้งหมด
21 ชิ้น แบ่งเป็น 2 ขนาดคือ วงซายวายจีและวงซายวายแล
วงซายวายบ้านแม่ตาวมีการจัดวงดนตรีสำหรับแห่อีก
3 ประเภทคือวงเปียว วงโดบะ และวงโอซี
โดยการเรียนซายวาย ครูเปโจได้ปรับประยุกต์วิธีการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านดนตรีจากครู
3 ท่านคือ ครูมองโจ ครูหมุ่ยเหพ่และครูแตะโต โดยมีระบบเสียง Pentatonic Scales มีโหมดเสียงอยู่ 4 โหมดเสียง คือโหมดเสียง 1 เสียง C ,โหมดเสียง 5 เสียง F ,โหมดเสียง
6 เสียง E ,โหมดเสียง 7 เสียง D
วงซายวายบ้านแม่ตาวแบ่งการใช้งานออกเป็น 3 ประเภทคือ 1)
การบรรเลงซายวายในงานประโคม 2) การบรรเลงซายวายประกอบการแสดง 3) การบรรเลงซายวายประกอบการบูชา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยอมรับทางชาติพันธุ์ในวงซายวาย อาทิ พม่า ไทใหญ่ ไทย
มอญ กะเหรี่ยง ปะโอ ปะหล่อง และลาว
จากประวัติศาสตร์ดนตรี
การใช้และบทบาทหน้าที่ของวงซายวายดังกล่าวทำให้ทราบว่าวงซายวายมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนและสะท้อนความเป็นสังคมวิถีพุทธ
การรวมกลุ่มทางชาติพันธุ์ เป็นสังคมสามัคคี
มีวัฒนธรรมร่วมที่แสดงออกในการประกอบประเพณี พิธีกรรม อันมีดนตรีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวที่สะท้อนผ่านทางดนตรีแสดงให้เห็นว่า
บ้านแม่ตาวมีวัฒนธรรมร่วมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
และเป็นสิ่งสำคัญที่หลอมรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน วิถีชีวิตวัฒนธรรมความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
การทำบุญ การรักษาศิล การภาวนา วงซายวายสะท้อนวัฒนธรรมการการแห่ วัฒนธรรมการบูชา
วัฒนธรรมการแสดง การแต่งกาย แม้แต่ระบบเศรษฐกิจของสังคม วัฒนธรรมอาหารการกิน
ระบบอุปถัมภ์ที่สะท้อนผ่านทางวัฒนธรรมดนตรี ในการให้ที่อยู่อาศัยและอาหาร
ดังนั้นจึงสามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1) ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม
บ้านแม่ตาวเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันได้โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องหลอมรวมจิตใจที่สำคัญ
2) ประวัติศาสตร์ดนตรี
การใช้และบทบาทหน้าที่ของวงซายวาย สรุปว่าอดีตซายวายทำหน้าที่ให้บริการตลอดช่วงชีวิต
โดยเป็นเครื่องผูกใจคนบ้านแม่ตาวให้สามัคคีกัน ยึดโยงให้ผูกพันเป็นปึกแผ่น
แต่ปัจจุบัน ซายวายทำหน้าที่ใหม่ๆขึ้นมาเพื่อแสดงความเป็น “พลเมืองดี”
ในสังคมไทย
อภิปรายผลงานวิจัย
จากผลการวิจัยที่พบว่าลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมบ้านแม่ตาวเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันได้โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องหลอมรวมจิตใจที่สำคัญและมีวงซายวายทำหน้าที่เป็นเครื่องผูกใจคนบ้านแม่ตาวให้สามัคคีกัน
ยึดโยงให้ผูกพันเป็นปึกแผ่น และแสดงความเป็น “พลเมืองดี” ในสังคมไทย
ที่ผลการวิจัยเป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่าผู้คนที่มีความแตกต่างกันด้านชาติพันธุ์นั้นมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเหมือนกันคือ
พระพุทธศาสนา
และการที่ดนตรีสามารถผูกใจคนต่างชาติพันธุ์ให้สามารถรวมตัวและสามัคคีกันได้นั้น
อาจเป็นผลมาจากการที่ผู้คนเป็นผู้เลือกนำเอาดนตรีนั้นมาเป็นตัวแทนของตนเพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่แสดงออกถึงการศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา
โดยดนตรีถูกนำมาใช้บรรเลงเพื่อการบูชา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ Alan P. Merriam ที่กล่าวว่า “ดนตรีในบริบททางวัฒนธรรม ดนตรีและเสียงดนตรีนั้นเป็นผลของขบวนการทางพฤติกรรมที่สร้างสรรค์โดยค่านิยม
ทัศนคติและความเชื่อของผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ
ดนตรีจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีผู้เล่นและกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ฟังและแม้ดนตรีคือผลิตผลของมนุษย์และเป็นสิ่งที่มีโครงสร้างแต่โครงสร้างนั้นอยู่เป็นเอกเทศจากพฤติกรรมที่เป็นต้นกำเนิดของมันหาได้ไม่
เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมโครงสร้างของดนตรีจึงเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่เราต้องเข้าใจพฤติกรรมที่ก่อกำเนิดมันขึ้นมา
รวมทั้งค้นหาว่าความคิดที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆ มีลำดับมาอย่างไร
และทำไมจึงกำหนดให้โครงสร้างของดนตรีเป็นอย่างนั้น
เพราะดนตรีนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะเสียงเท่านั้นแต่หมายถึงพฤติกรรมต่างๆที่นำมาซึ่งการประดิษฐ์เสียงของดนตรีนั้นๆ
ดังนั้นหน้าที่ของดนตรีก็มีความสำคัญเท่าๆ กับวัฒนธรรมด้านอื่นๆ
ในการที่จะเข้าใจระบบและโครงสร้างของสังคมดนตรีนั้นมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทุกอย่างในสังคม
เนื้อเพลงสามารถบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมแก่เราได้มาก” (Alan
P. Merriam, 1964)
จากคำกล่าวในข้างต้นสามารถนำมาอธิบายลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวผ่านวง ซายวายได้
ด้วยบริบททางวัฒนธรรมพบว่าวงซายวายกำเนิดขึ้นจากพฤติกรรมที่สร้างสรรค์จากค่านิยม ทัศนคติและความเชื่อของคนในหมู่บ้านแม่ตาวดังนั้นวงซายวายจึงมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมด้านอื่นๆของสังคมด้วย
จากความสัมพันธ์นี้จึงทำให้วงซายวายสามารถสะท้อนและอธิบายความเป็นสังคมวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวได้
วงซายวายมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนสะท้อนความเป็นสังคมวิถีพุทธ
การรวมกลุ่มทางชาติพันธุ์ เป็นสังคมสามัคคี
มีวัฒนธรรมร่วมที่แสดงออกในการประกอบประเพณี พิธีกรรม
อันมีดนตรีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของบ้านแม่ตาวที่สะท้อนผ่านทางดนตรีแสดงให้เห็นว่า
บ้านแม่ตาวมีวัฒนธรรมร่วมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นสิ่งสำคัญที่หลอมรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
วิถีชีวิตวัฒนธรรมความเชื่อทางพระพุทธศาสนา การทำบุญ การรักษาศีล การภาวนา
วงซายวายสะท้อนวัฒนธรรมการการแห่ วัฒนธรรมการบูชา วัฒนธรรมการแสดง การแต่งกาย
แม้แต่ระบบเศรษฐกิจของสังคม วัฒนธรรมอาหารการกิน ระบบอุปถัมภ์ที่สะท้อนผ่านทางวัฒนธรรมดนตรี
ในการให้ที่อยู่อาศัยและอาหาร
จากการศึกษาที่พบมีความสอดคล้องในแง่มุมของบทบาทหน้าที่ของดนตรีอยู่หลายประการ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของอนันต์
สบฤกษ์ (2542) ศึกษาเรื่อง พัฒนาการปี่ใน พบว่าปี่ในมีวิวัฒนาการ ทั้งสี่ภาคแต่เรียกต่างกัน
ดนตรีในลักษณะเดียวกันเมื่ออยู่ต่างพื้นที่ต่างเวลาต่างวัฒนธรรมย่อมมี การเปลี่ยนแปลง
ซึ่งสอดคล้องกับวงซายวายที่มีวิวัฒนาการอยู่ในวัฒนธรรมอื่น
ซึ่งปี่อาจถูกเปลี่ยนไปเรียกชื่อที่แตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ต่างๆแต่วงซายวายถูกเปลี่ยนไปในด้านของบทบาทหน้าที่และการนำมาใช้
ซึ่งเป็นผลจากวัฒนธรรมในสังคมที่พยายามกำหนดเอกลักษณ์ทางดนตรีเป็นของตนเอง
ซึ่งยังมีงานวิจัยที่อธิบายบทบาทหน้าที่ของดนตรีดังนี้ พิชิต ชัยเสรี
(2542)อธิบายบทบาทของดนตรีในการอธิบายธรรมผ่านบทเพลง, สัญญา เผ่าพืชพันธุ์ (2551) อธิบายหน้าที่ดนตรีของชาวอูรักลาโว้ยในการประกอบพิธีลอยเรือและแก้เหลยเพื่อเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยสะท้อนผ่านบทร้อง,
สิทธิพร เนตรนิยม (2550) วิจัยเรื่อง
อิทธิพลวัฒนธรรมพม่าที่ปรากฏในบทร้องและทำนองเพลงที่ใช้ในการแสดงชุดม่านมุ้ยเชียงตา
ซึ่งพบว่าทำนองคล้ายกับเพลงเวชยันตาของพม่าแต่แตกต่างกันที่การบรรยายของบทเพลง
โดยการแสดงม่านมุ้ยเชียงตาบรรยายถึงคนรักในถิ่นทุรกันดารแต่เวชยันตาของพม่าบรรยายถึงความงามของเมืองมัณฑเลย์
เชิดศักดิ์ ฉายถวิล (2549)
ศึกษาหน้าที่ของโหวดดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ทำหน้าที่เกริ่นนำ ประกอบร้องและประสานเสียง
นอกจากนี้ยังมีบทบาทของดนตรีที่ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมอีกเช่น สนั่น
ธรรมธิ (2549)
ศึกษาบทบาทของเพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาพบการสะท้อนความเป็นเพลงไทยภาคกลางและเพลงล่องน่านภาคเหนือ,
รณชิต แม้นมาลัย (2536) ศึกษากลองหลวงล้านนา พบว่ากลองหลวงใช้ในการสื่อสาร
ใช้ประกอบการฟ้อน การแห่และการแสดงถึงเกียรติยศ, ณรงค์
สมิทธิธรรม (2541)
ศึกษาวงตกเส้งดนตรีแห่ในวิถีชีวิตของชาวลำปางซึ่งใช้ในการแห่ประโคมและงานมงคล,
มณเฑียร รุ่งหิรัญ (2549)
ศึกษาเก้งดนตรีม้งที่สะท้อนบทบาทด้านพิธีกรรม บทบาททางเศรษฐกิจ วรรณกรรมและการสื่อสาร,
ปถมา เอี่ยมสะอาด (2549)
ศึกษากระจับปี่ด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางดนตรีที่สะท้อนถึงบทบาทของชนชั้นสูง
ซึ่งบทบาททางดนตรี
ทั้งการใช้และหน้าที่ที่ปรากฏในงานวิจัยดังที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่ของดนตรีที่มีบทบาทแตกต่างกันพอที่จะอนุมานให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และการใช้ของวงซายวายในพื้นที่บ้านแม่ตาวได้บางส่วนแต่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด
ด้วยบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่าง โอกาสในการใช้ดนตรีที่แตกต่างกัน
งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าดนตรีถูกนำมาใช้ให้มีบทบาทตามที่สังคมกำหนดเพื่อรับใช้สังคมของตนซึ่งเป็นแบบเฉพาะเจาะจงสังคมใดสังคมหนึ่งแต่วงซายวายถูกนำมาใช้ในสังคมที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนทางวัฒนธรรมดังนั้นในมุมมองของบทบาทหน้าที่และการใช้ทางดนตรีในงานวิจัยที่ได้กล่าวมาจึงไม่สามารถอธิบายวัฒนธรรมดนตรีของวงซายวายในบ้านแม่ตาวได้ทั้งหมด
การศึกษาดนตรีเพื่อสะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อ ทัศนคติ
ความคิดและมโนทัศน์ของผู้คนในสังคมหลายสังคมมีความเชื่อในเรื่องของดนตรีสื่อวิญญาณโดยเฉพาะในวัฒนธรรมที่มีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมงานศพ
ดนตรีส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ให้มีหน้าที่ในการแห่และประโคมศพ ดังที่ อารีรัตน์ เรืองกำเนิด
(2547) อธิบายถึงการนำโหม่งครึ่มไปใช้แห่ศพ, ปราโมทย์
ด่านประดิษฐ์ (2543) อธิบายถึงการนำปี่พาทย์มอญไปบรรเลงประโคมศพ, ปัญญา รุ่งเรือง (2552)
อธิบายถึงการนำวงฆ้องสโกรมาบรรเลงประโคมศพและนำวงกลองชเนี๊ยกมาบรรเลงแห่ศพของชาวเขมร,
สันติศิริคชพันธ์ (2540) อธิบายถึงการนำวงมังคละไปบรรเลงแห่ศพ,
ภัทราวรรณ จันทร์ธิราช
(2539)อธิบายถึงการนำวงกาหลอไปบรรเลงแห่ศพและประทีป นักปี่
(2549)ได้อธิบายถึงการนำวงตุ๊บเก่งไปบรรเลงแห่ศพ
จากการศึกษางานวิจัยเหล่านี้พบว่าวัฒนธรรมดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในการประโคมและแห่ศพเหมือนๆกันซึ่งมีความเชื่อที่สะท้อนออกมาเหมือนกันคือเชื่อว่าดนตรีสามารถสื่อกับวิญญาณได้
โดยเชื่อว่าเสียงของดนตรีสามารถส่งให้วิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ได้
ภายใต้การนำดนตรีมาใช้ในพิธีกรรมงานศพนี้มีความสอดคล้องกับการนำวงซายวายมาใช้ในการแห่และประโคมศพซึ่งพอที่จะทำความเข้าใจเรื่องการใช้ได้ใกล้เคียงกันแต่จะแตกต่างกันในเรื่องของหน้าที่ทางดนตรีที่ถูกกำหนดขึ้น
วงซายวายถูกนำไปใช้ให้มีหน้าที่เพื่อสะท้อนความเชื่อทางการสื่อสารเช่นกันแต่ไม่ใช่เป็นการสื่อสารกับวิญญาณแต่เป็นการสื่อสารถึงผู้คนในสังคมเพื่อแสดงถึงฐานะของเจ้าภาพและผู้ตายซึ่งสะท้อนถึงความมั่งคั่งมั่งมีของครอบครัวที่จัดพิธีศพและเป็นการประดับเกียรติแก่ผู้ตาย
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่างานวิจัยด้านดนตรีเกี่ยวกับพิธีกรรมงานศพสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวงซายวายในหมู่บ้านแม่ตาวได้เพียงวิธีการใช้เท่านั้นแต่ไม่สามารถนำมาอธิบายในบริบทของหน้าที่ได้
เพราะมีความแตกต่างกันในเรื่องของทัศนคติความเชื่อและมโนทัศน์ที่ปรากฏจากตัวดนตรี
ข้อเสนอแนะ
จากการทำวิจัยเรื่องซายวายในสังคมวัฒนธรรมบ้านแม่ตาว
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะจากการศึกษาดังนี้
1. ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัย
ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาในส่วนของวัฒนธรรมดนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านแม่ตาวเท่านั้น
ดังนั้นในส่วนของข้อมูลจึงมีข้อจำกัด
ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยไปในพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นลักษณะพื้นที่ชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าเหมือนกัน
แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันน่าจะเพิ่มความเข้าใจวิถีวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ชายแดนและเพิ่มความละเอียดในการศึกษาวิเคราะห์วัฒนธรรมดนตรีพม่าได้มากยิ่งขึ้น
ในด้านของการศึกษาดนตรีได้แก่
การศึกษาต่อยอดถึงลักษณะของบทเพลงทั้งทางร้องและลักษณะของการบรรเลง ซึ่งควรมีการศึกษาต่อยอดลักษณะของการบรรเลงและการฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรี ในวงซายวาย
ควรมีการศึกษาจดบันทึกทำนองเพลงวิเคราะห์ทำนองเพลงไว้และควรมีการศึกษาบทบาทของเพลงที่ใช้บรรเลงในโอกาสต่างๆ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทเพลงเหมาะสมกับโอกาสของการนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการด้านมานุษยวิทยาการดนตรีสืบต่อไป
2. ข้อเสนอแนะทั่วไป
วิถีแห่งการศึกษาดนตรีนั้นมีความละเอียดอ่อน
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นดนตรีของชนชาติใดก็ตาม
ล้วนแต่มีวิถีทางและวิถีปฏิบัติเป็นของตนเอง
ดังนั้นหากต้องการจะเรียนรู้ดนตรีในวิถีของชนชาติใดๆ
นั้นก็ควรใส่ใจที่จะเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของชนชาตินั้นๆ ด้วย
การเรียนและการสอนดนตรีที่ดีนั้นต้องมีการจัดลำดับขั้นตอนเอาไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางการศึกษาและแวดวงวิชาการ
อันจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนของตนเองเอาไว้ได้
ดังนั้นควรมีการ วางแนวทางในการอนุรักษ์และจัดทำชุดฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรีในวงซายวาย
เพื่อให้สามารถพัฒนาและ
สืบทอดต่อไปได้
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กาญจนี ละอองศรี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2549). กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: พิฆเณศพริ้นติ้ง เซ็นเตอร์.
คณะกรรมการจัดงานดนตรีไทยอุดมศึกษา.
(2552). เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเรื่อง
“ดนตรีพิธีกรรม”เนื่องในโอกาสครบรอบ
75 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการจัดงานดนตรีไทยอุดมศึกษา
ครั้งที่ 37. กรุงเทพฯ: บริษัท
เท็คโปรโมชั่น แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด.
คณะกรรมการเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2530). จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2,3,4,5. กรุงเทพฯ:
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสหประชาพาณิชย์.
คึกฤทธ์ ปราโมช. (2529). พม่าเสียเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สยามรัฐ.
งามพิศ สัตย์สงวน. (2542). การวิจัยทางมานุษยวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จิตต์พิมพ์ แย้มพราย. (2546). ดนตรีพม่า.นครปฐม: วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
มหาวิทยาลัยมหิดล.
จิติกานต์ จินารักษ์. (2551). กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูประสิทธิ์ ถาวร กรณีศึกษาชุดเพลินเพลงพาทย์ระนาดเอก.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา. นครปฐม:
มหาวิทยาลัยมหิดล.
ฉลาดชาย รมิตานนท์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และระดา สมสวัสดิ์. (2526). พม่า: อดีตและปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 8. เชียงใหม่: สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2548). ประวัติศาสตร์ไทยกับแนวคิดชุมชน.
กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี.
ฉันทนา เอี่ยมสกุล. (2545). นาฏลีลาอาเซียน.
กรุงเทพฯ: หจก. เอ็ม. ที. เพลส.
เฉลิมพล โลหะมาตย์. (2551). ดนตรีประกอบพิธีกรรมรำผีมอญของหมู่บ้านมอญบางกระดี่
แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2538) “วิธีการศึกษาดนตรีพื้นบ้าน” ดนตรีไทยอุดมศึกษา
ครั้งที่ 26. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง.
_____________. (2540). ดนตรีเอเชียตะวันออก. ขอนแก่น:
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ชวลิต รัตนยรรยง. (2554). รูปแบบประเพณีการตั้งธรรมเวสสันตระของชาวไทขึน
เมืองเชียงตุง รัฐฉาน สหภาพพม่า. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรม.
ชนัฐธร แวกประยูร. (2548). ชีวิตและผลงานของสุรพลโทณะวณิก.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.
ชโลมใจ กลั่นรอด (2541) ทะแยมอญ:
วัฒนธรรมการดนตรีของชาวมอญชุมชนวัดบางกระดี่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวัฒนธรรมศึกษา. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.
ช้างต้น กุณชร ณ อยุธยา. (2544). ฝู่หลู
แคนน้ำเต้าของชาวลีซู: กรณีศึกษาบ้านดอยล้าน ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวบ จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.
ชูชาติ
อินทพงค์. (2550).วัฒนธรรมดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ล่าหู่มูเซอ
หมู่บ้านส้มป่อย ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก. วิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยดุริยางควิทยา. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ณรงค์ เขียนทองกุล. (2541). บ้านบางลำพูชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ.
กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศพริ้นติ้ง เซ็นเตอร์.
บุษกร สำโรงทอง.
(2543). โครงการแปลหนังสือ THE
ANTHROPOLOGY OF MUSIC ของ Alan P. Merriam. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
_____________. (2552). พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการสืบทอดดนตรีล้านนา. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภาษาอังกฤษ
Hood, M. (1979). The
Ethnomusicologist. New York: Me Grow – Hill Book Co.
MaungHtinAung.
(1959). Folk Elements in Burmese
Buddhism. Rangoon: Religious Affair Dept. Press,Kaba-Aye.
U
OhnKyawand U MninMaung Tin. (2005). SEAMEO – SPAFA
Consultative Meeting on Between
Tradition and Trend: Documenting Southeast Asian Music. 13 – 15 July 2005,Mahidol UniversityThailand.
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ศูนย์พม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2556. สืบค้นโดย http://www.myanmar.nu.ac.th/
U Min Kyi.Yangonow.สืบค้นเมื่อ
4 พฤษภาคม 2556. สืบค้นโดย
http://www.yangonow.com/eng/culture/index/html
แผนที่แสดงตำแหน่งการเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านแม่ตาวกับเมืองเมียวดี.
สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2557. สืบค้นโดย https://maps.google.co.th/maps
สัมภาษณ์
กิตติมศักดิ์ สีเดือน. สัมภาษณ์.13 - 14 เมษายน 2553;10 ตุลาคม 2554;12 กรกฎาคม 2555; 15 พฤศจิกายน 2554; 29 ธันวาคม 2554; 20 ตุลาคม 2555; 17 - 19 เมษายน 2556; 4 พฤษภาคม 2556.
เปโจ.สัมภาษณ์.15 เมษายน 2553;10 - 12 ตุลาคม 2554; 14 พฤศจิกายน 2554; 29 - 30 ธันวาคม 2554; 20
- 22 ตุลาคม 2555; 17 - 19 เมษายน 2556;4
- 5 พฤษภาคม 2556.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
มนุษยวิทยาการดนตรีคืออะไร